ออกกำลังกายกับ “ภูมิแพ้”

13.11.2014 | 08:57

Diverse group of children in gym class stretching

           การออกกำลังกายส่งผลต่อร่างกายหลายด้าน ทั้งด้านที่ดีและด้านที่ควรระวัง การออกกำลังกายอย่างหักโหมนานเกิน 90 นาที ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนเครียด ไปกดระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้บางคนอาจเป็นโรคเกี่ยวกับไขข้อด้วย ดังนั้น เมื่อออกกำลังกายอย่างหักโหม อาจรู้สึกเจ็บไขข้อ จึงควรออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เลือกชนิดที่เหมาะกับแต่ละบุคคลจึงจะเกิดประโยชน์

          ควบคุมสิ่งแวดล้อม ห้องออกกำลังกายที่มีเครื่องฟอกอากาศ สามารถลดต้นเหตุของโรคภูมิแพ้ได้ เช่น เชื้อโรค เกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง ไรฝุ่น เป็นต้น แต่ไม่ควรปรับเครื่องปรับอากาศให้มีอุณหภูมิต่ำเกินไป ผู้ป่วยโรคหอบหืดควรสวมหน้ากากอนามัยขณะออกกำลังกาย พยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีแมลงมาก เช่น สวนสาธารณะ บริเวณที่มีการปิ้งย่างกลางแจ้ง ใกล้จุดทิ้งขยะ หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีกลิ่นฉุน หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาดเพราะอาจดึงดูดแมลงให้เข้ามาหา ที่แพ้เหล็กในของผึ้งยิ่งต้องระวังเมื่อออกกำลังกายกลางแจ้ง

          ข้อควรระวัง เตรียมตัวให้พร้อม ควรออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามสภาพร่างกาย เริ่มจากง่ายและค่อยๆเพิ่มความยากขึ้นตาม ลำดับ ควรมีการอบอุ่นร่างกาย 5-15 นาทีทุกครั้งก่อนออกกกำลัง กายเพื่อให้ร่างกายปรับตัว หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งในเวลาเช้า โดยเฉพาะผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ เพราะเป็นช่วงที่เกสรดอกไม้แพร่กระจายมากที่สุดของวัน ช่วงที่มีอาการแพ้ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม เพราะอาจทำให้อาการแพ้หนักขึ้น ช่วงที่เพิ่งเป็นไข้หวัด เครียดจัด และเหนื่อย ก็ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมเช่นกัน ไม่ควรว่ายน้ำหรือออกกำลังกายเมื่ออากาศร้อน ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่ผิวหนังจะมีอาการคันเมื่ออากาศร้อน จึงไม่ควรออกกำลังกายหักโหม สารฆ่าเชื้อโรคในสระว่ายน้ำก็ไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่ผิวหนังเช่นกัน จึงไม่ควรว่ายน้ำในสระ

          บรรเทาอาการภูมิแพ้ 

  • เดินเล่น ทำให้ปอดและหัวใจทำงานได้ดีขึ้น ส่งผลให้อาการ ภูมิแพ้ดีขึ้นเช่นกัน ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่ผิวหนังควรป้องกันแมลงสัตว์กัดต่อยขณะเดินเล่น ผิวหนังที่ไวต่อความรู้สึกจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่าย ยิ่งเกายิ่งคัน ทำให้อาการภูมิแพ้หนักกว่าเดิม
  • ว่ายน้ำ ทำให้ปอดแข็งแรง เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคแพ้อากาศและผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้ป่วยโรคแพ้อากาศอาจรู้สึกไม่ดีนักหลังว่ายน้ำ สาเหตุจากน้ำในสระ ให้ลองใช้น้ำอุ่นผสมเกลือล้างจมูกจะทำให้อาการดีขึ้น
  • วิ่งเหยาะๆ ทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรง กระตุ้นกระบวนการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ผู้ป่วยโรคหอบหืดควรสังเกตอาการของตัวเองก่อนตัดสินใจว่าจะวิ่งเหยาะๆได้หรือไม่ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่ผิวหนังควรหาทางป้องกันแมลงสัตว์กัดต่อยเมื่อออกไปวิ่งในสวนสาธารณะ

    ที่มา : โลกวันนี้วันสุข โดยไตรรัตน์ นรเศรษฐกานนท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (ร.พ.เด็ก)

Comments are closed